รู้ไว้ไม่พลาด! ไขข้อข้องใจ เที่ยว-ช็อป สิ้นปี ลดหย่อนภาษี 3 หมื่นบาท

  • 11 พ.ค. 2563
  • 832
หางาน,สมัครงาน,งาน,รู้ไว้ไม่พลาด! ไขข้อข้องใจ เที่ยว-ช็อป สิ้นปี ลดหย่อนภาษี 3 หมื่นบาท

เรียกว่าเป็นข่าวดีสำหรับนักช็อป!! หลังรัฐบาลประกาศลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อเป็นของขวัญส่งท้ายปี 58 นอกจากเป็นการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนช่วงเทศกาลปีใหม่ ที่ได้ลดภาษีจากการซื้อสินค้าแล้ว ในเดือนเดียวกัน ยังมีมาตรการภาษีส่งเสริมเที่ยวทั่วไทยที่ออกมาก่อนหน้าอีกด้วย เรียกว่า ภายในเดือนเดียว ลดหย่อนภาษีรวมแล้วถึง 30,000 บาท

ทั้งนี้ หลายคนคงเริ่มสงสัยว่ามาตรการดังกล่าวมีเงื่อนไขอย่างไร? รวมทั้งเจ้าใบกำกับภาษีที่ว่านั้นเป็นแบบไหน? "ไทยรัฐออนไลน์" มีคำตอบ ...

ต้องท้าวความกันเล็กน้อยว่า มาตรการดังกล่าวเกิดขึ้นตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ของขวัญปีใหม่กับประชาชน โดยการออกมาตรการนี้เป็นเหมือนการเพิ่มแรงจูงใจให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยในเดือนสุดท้ายของปี ซึ่งนับเป็นเดือนแห่งเทศกาล ที่ประชาชนส่วนใหญ่ล้วนมีความต้องการซื้อสินค้า และบริการต่างๆ เป็นจำนวนมากอยู่แล้ว

 

กระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยช่วงปลายปี

โดยทางภาครัฐฯ ได้เริ่มเดินหมากแรกด้วย "มาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว และจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ" ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16-31 ธ.ค. ซึ่งเป็นกรณีเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว หรือที่ได้จ่ายเป็นค่าโรงแรมภายในประเทศ ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท

ผู้ที่ได้รับสิทธิ์ในการยื่นลดหย่อนภาษีตามมาตรการนี้จะต้องเป็นผู้เสียภาษีบุคคลธรรมดา ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล โดยผู้ยื่นขอลดหย่อนจะต้องมีใบเสร็จรับเงิน หรือใบกำกับภาษีที่ระบุ ชื่อ นามสกุล ของผู้มีเงินได้ที่จะใช้สิทธิหักลดหย่อน จำนวนเงิน และวัน เดือน ปี ของเอกสารใบเสร็จรับเงิน หรือใบกำกับภาษีที่ชัดเจน

แต่ในกรณี ที่จองผ่านคนกลางหรือเอเจนซี่อย่าง "Agoda" บิลที่ออกจากคนกลางซึ่งไม่เข้าข่ายผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตข้างต้น ไม่สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานลดหย่อนภาษีได้

ขณะที่ผู้ออกใบเสร็จได้จะต้องเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยว และมัคคุเทศก์ หรือ ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมตามกฎหมาย ซึ่งโรงแรมที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ทางกรมสรรพากรได้จัดทำลิสต์รายชื่อเอาไว้ให้ตรวจเช็กได้แล้ว บนเว็บไซต์ rd.go.th

ทั้งนี้ หากสามีหรือภริยา มีเงินได้เพียงฝ่ายเดียว ให้ใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีเฉพาะแก่สามีหรือภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ แต่หากสามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ และในใบเสร็จรับเงินหรือใบกำกับภาษีระบุผู้จ่ายเงินเป็นทั้งสามีและภริยา ให้ใช้หลักเกณฑ์ดังนี้

(ก) ถ้าสามีภริยาต่างฝ่ายต่างแยกยื่นแบบ ให้ต่างฝ่ายต่างหักลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง ไม่เกินคนละ 15,000 บาท

(ข) ถ้าสามีภริยาแยกยื่นแบบ เฉพาะเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นเงินได้ประเภทเงินเดือน ให้ต่างฝ่ายต่างหักลดหย่อนภาษีของตนเองได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง ไม่เกินคนละ 15,000 บาท

(ค) ถ้าสามีภริยาตกลงยื่นแบบและเสียภาษีรวมกัน ให้หักลดหย่อนภาษีได้ทั้งสองฝ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง ไม่เกินคนละ 15,000 บาท

สำหรับมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวนั้น นายสุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า สามารถช่วยกระตุ้นในส่วนการท่องเที่ยวได้จริง นักท่องเที่ยวคึกคักมากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ก็อยากให้มีการประชาสัมพันธ์ถึงมาตรการภาษีให้มากกว่าเดิม เนื่องจากยังมีประชาชน และนักท่องเที่ยวที่ยังไม่ค่อยเข้าใจในรายละเอียดมากนัก

 

ซื้อสินค้า-บริการ ไม่เกิน 15,000 บาท

ล่าสุด นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ออก "มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา" สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค้าบริการ ในระหว่างวันที่ 25-31 ธ.ค. 58 จากผู้ประกอบกิจการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยในคำว่า "ค่าซื้อสินค้าและบริการ" ไม่ได้นับรวมถึงการซื้อสุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ น้ำมัน และก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือ และผู้ซื้อจะต้องมีหลักฐานสำหรับการลดหย่อนภาษี เป็น "ใบกำกับภาษี" ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร เท่านั้น!

คุณสมบัติใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบตาม ม.86/4 แห่ง ป.รัษฎากร 

1. คำว่า "ใบกำกับภาษี" ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด
2. ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี และในกรณีที่ตัวแทนเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา 86 วรรคสี่ หรือมาตรา 86/2 หรือผู้ทอดตลาดเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา 86/3 ให้ระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตัวแทนนั้นด้วย
3. ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
4. หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่ม ถ้ามี
5. ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ
6. จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้าและหรือของบริการให้ชัดแจ้ง
7. วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี
8. ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด

ทั้งนี้ ใบเสร็จรับเงินหรือใบกำกับภาษีที่ลงวันที่ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2558 ให้นำไปใช้ลดหย่อนของปีภาษี 2558 ที่เป็นการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2559

ดังนั้น เมื่อมาตรการดังกล่าวถูกนำไปรวมกับ "มาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว และจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ" จึงเท่ากับว่าในเดือนสุดท้ายของปี กระทรวงการคลัง ได้ออกมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไปแล้ว 2 มาตรการ จำนวน 30,000 บาท ซึ่งแน่นอนว่ามาตรการแบบนี้ ก็มีเป้าหมายสำคัญเป็นการช่วยส่งการท่องเที่ยว และกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างเต็มรูปแบบ

 

เที่ยวจับจ่ายใช้สอยกันอย่างมีความสุข และอย่าลืม! ขอใบเสร็จนำไปลดหย่อนภาษีนะคะ

เมื่อทราบดังนี้แล้ว ผู้อ่านทุกท่านอย่าลืมขอใบเสร็จ เพื่อนำไปลดหย่อนภาษี รวมทั้งปลายปีนี้ ไทยรัฐออนไลน์ ขอให้คุณผู้อ่านทุกท่าน ท่องเที่ยว จับจ่ายใช้สอยกันอย่างมีความสุข ส่วนมาตรการดังกล่าว จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างที่หลายฝ่ายคาดหวังไว้หรือไม่ ก็คงต้องรอดูกันต่อไป แต่เชื่อว่าในฐานะประชาชนจะได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้ไม่มากก็น้อย.

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top